ปฎิเสธไม่ได้ว่าหากนักเศษฐศาสตร์คนหนึ่งจะอธิบายถึงความร่ำรวยหรือความยากจนมักจะต้องกล่าวถึงเรื่องของการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานของตลาดแรงงาน
หนังสือ “เศรษฐศาสตร์ความจน” ที่เขียนโดยนักเศษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโบเบล ปี 2019 ก็เช่นกัน
บทหนึ่งของหนังสือได้นำเสนอข้อมูลการศึกษาที่น่าสนใจ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ซับซ้อนกว่าการเข้าไม่ถึงการศึกษาซึ่งดูจะเป็นปัญหาที่ถูกพิชิตด้วยนโบยาบเรียนฟรีไปนานแล้ว
รวมทั้งหนังสือยังชี้ให้เห็นว่ารัฐควรที่จะแทรงแซงเรื่องการศึกษาหรือไม่ และการแทรกแซงรูปแบบใดคุ้มค่าที่สุด
จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะได้เห็นภาพของระบบการศึกษาผ่านมุมมองการคิดเชิงระบบของนักเศษฐศาสตร์ ซึ่งมีข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระบบการศึกษา 3 ข้อ ดังนี้
1.ปรับหลักสูตรให้ง่าย
สำหรับคนที่อยู่ในวงการการศึกษามักจะได้ยินเสียงสะท้อนจากครูว่า “สอนไม่ทัน” ซึ่งพอได้ยินบ่อยเข้าก็นึกสงสัยว่า “ไม่ทันอะไร”
คำตอบคือครูจะสอนทันหรือไม่นั้นถูกกำหนดเอาไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คำว่าสอนไม่ทันจึงหมายถึงสอนไม่ครบตามตัวชี้วัดที่ระบุไว้ว่าสิ่งใดนักเรียนควรรู้และควรปฏิบัติได้
ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนตัวชี้วัด จึงกดดันให้ครูต้องสอนให้ทัน โดยเหมารวมเอาว่าการสอนของครูนั้นเท่ากับการเรียนรู้ของเด็ก
เบื้องหลังของคำพูดดังกล่าวกับเกี่ยวข้องกับการสอนของครูทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเรียนของเด็กดังที่ระบุไว้ในตัวชี้วัดเลย
ซึ่งการสอนทันไม่ผิดอะไรสำหรับเด็กกลุ่มหนึ่งที่เรียนรู้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่สำหรับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียนรู้ได้ช้ากว่านั้นทำให้พวกเขาไม่มีเวลาพอที่จะได้เรียนรู้จนกว่าจะเข้าใจ
ครูเองก็ไม่มีเวลาทบทวนและตรวจสอบว่าเด็กรู้หรือปฏิบัติได้หรือยัง เพราะการสอนให้ครบนั้นสำคัญกว่าสอนในรู้
การเรียนรู้จึงไม่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียน
ปัญหาดังกล่าวขยายวงกว้างจากการไม่เข้าใจบทเรียนเป็นการไม่เข้าใจทั้งวิชา และพาลให้เด็กไม่อยากเรียนวิชานั้นหรือไม่อยากเรียนวิชาใดเลยในที่สุด
เศรษฐศาสตร์ความจนจึงเสนอวิธีการแทรกแซงที่คุ้มค่าที่สุด คือการลดความคาดหวังลง ปรับหลักสูตรให้ง่าย และลดจำนวนตัวชี้วัดให้เหลือเฉพาะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็กเท่านั้น
เพื่อให้ครูสอนทันและสอนได้อย่างลึกซึ้งในแต่ละสาระวิชา
2.มุ่งเน้นให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้
หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของการศึกษา โรงเรียนถือกำเนิดขึ้นเพื่อความไม่เท่าเทียมที่ชนชั้นปกครอบพยายามจะรักษาอำนาจของตนด้วยการส่งต่อความรู้ให้ลูกหลานของตน
จึงไม่น่าแปลกใจที่การเรียนการสอนจะให้ความสำคัญกับเด็กบางคนที่เรียนเก่งและหัวไว
เพราะเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะสร้างชื่อเสียงและสร้างผลงานให้แก่ครูและโรงเรียนมากกว่า โดยทิ้งเด็กคนอื่นให้เติบโตไปตามยถากรรม
เห็นได้จากป้ายไวนิลหน้าโรงเรียนที่มีแต่ภาพของนักเรียนที่สอบติดมหาวิทยาลัยดี ๆ โดยเก็บเด็กอีกกลุ่มไม่มีสามารถเรียนต่อได้เอาไว้ในทะเบียนรายชื่ออย่างเงียบ ๆ
สำหรับเด็กอีกกลุ่มที่เรียนรู้ช้าแต่มาจากครอบครัวที่พอมีฐานะ สุดท้ายแล้วเด็กกลุ่มนี้จะได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวจนมีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นสูงไม่ต่างจากเด็กกลุ่มแรกมากนัก
ปัญหาจึงไปตกอยู่กับเด็กกลุ่มที่เหลือที่เรียนไม่เก่งและฐานะยากจน
เด็กกลุ่มนี้นอกจากจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากครูที่ให้ความสำคัญกับเด็กเก่งมากกว่าแล้ว พวกเขายังได้รับการสนันสนุบจากครอบครัวน้อยกว่าเนื่องจากมีทรัพยากรเหลือไม่มากพอ
ขอเสนอแนะของเศรษฐศาสตร์ความจนคือ การเปลี่ยนทัศนคติของครูใหม่ มุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้กับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันในห้องเรียนทิ้งไป และเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้
3.เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ตามจังหวะของตนเอง
เนื่องจากพัฒนาการของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน บริบทแวดล้อมไม่เหมือนกัน พื้นฐานครอบครัวและทรัพยากรที่มีก็แตกต่างกัน ทั้งหมดคือปัจจัยส่วนตัวที่ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้
การตีกรอบให้เด็กเรียนรู้ในระยะเวลาที่จำกัดจึงเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ระบบการศึกษามอบให้แก่นักเรียนที่เรียนรู้ได้ช้ากว่าเกณฑ์ที่กำหนด
อัตราการเรียนรู้ที่แตกต่างซึ่งควรจะเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน กลับเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์สำหรับเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาแบบเดียว (One Size Fits All)
วิธีแทรกแซงที่เศรษฐศาสตร์ความจนเสนอคือ การเรียนการสอนควรจะปรับให้เป็นการเรียนรู้ส่วนบุคคล (personalized learning)
เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ตามจังหวะของตนเอง เลือกเรียนตามความถนัดของตน ได้ค้นพบตัวตนและศักยภาพสูงสุดของตนเอง
หลักสูตรฐานสมรรถนะ
หากพิจารณาข้อเสนอแนะทั้งสามของหนังสือเศรษฐศาสตร์ความจนจะพบว่า ข้อเสนอทั้งหมดจะถูกขับเคลื่อนได้ก็ต่อเมื่อมีการปลดล็อคเรื่องหลักสูตร
การมีโรงเรียนเอกชนเป็นทางเลือก การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และความพยายามในเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะของกระทรวงศึกษาธิการ
จึงนับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้เด็กในระบบการศึกษาหลักของประเทศดูมีความหวังขึ้นมา
Source
Book: เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economics)
Authors: Abhijit V. Banerjee, Esther Duflo